วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ค่าวซอ

ค่าวซอ คือ การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาประจำท้องถิ่น เกี่ยวกับ จ๊อยซอ หรือค่าวคอ การละเล่นจ๊อยตีข้าว มักจะเล่นกันในงานประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9 ที่มาของค่าวล้านนา เป็นการนำเอาฉันทลักษณ์ประเภทค่าวซอมาแต่งเป็นวรรณกรรมนั้น ได้เริ่มขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา โดยที่พระยาโลมาวิสัยแต่งค่าวซอ เรื่อง “หงส์ผาคำ” เป็นเรื่องแรก จากการศึกษาของ ฉัตรยุพา สวัสดิ์พงษ์ นั้น ได้กล่าวว่าพระยาโลมาวิสัยน่าจะเป็นผู้แต่งค่าวซอ เรื่อง “เจ้าสุวัตรนางบัวคำ” อีกด้วย หากเป็นเช่นนี้จริง ก็อาจเป็นเพราะว่าเมื่อพระยาโลมาวิสัยเห็นว่าค่าวซอเรื่อง หงส์ผาคำ ได้รับการต้อนรับอย่างดี จึงมีกำลังใจที่จะนำเอาชาดกนอกนิบาตมาแต่งเป็นค่าวซอเรื่อง เจ้าสุวัตรนางบัวคำ ในเวลาต่อมาความนิยมฉันทลักษณ์ประเภทค่าวนี้เห็นได้ชัดจากการที่ พระยาพรหมโวหารได้แต่ง ค่าวสี่บท หรือ ค่าวร่ำนางงาม หรือ ค่าวร่ำนางศรีชม เพื่อเป็นการใช้เสน่ห์แห่งกวีนิพนธ์ ดึงดูดนางชมที่หนีไปนั้น ให้หวนกลับมาหาตนอีกครั้งหนึ่ง และสำนวนการเขียนของพระยาพรหมโวหารในครั้งนั้น (ประมาณ พ.ศ. 2480 – 2490) ก็เป็นสำนวนโวหารนั้นเป็นที่จดจำกันอย่างแพร่หลาย และ เนื่องจากการแต่งค่าวซอนั้นไม่ต้องใช้ความรู้ทางอักษรศาสตร์มากนัก จึงเป็นเหตุให้ผู้นิยมฟังการ “เล่าค่าว – การขับทำนองเสนาะ” และการแต่งค่าว อย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา โดยเฉพาะช่วงที่ยังไม่มีการพิมพ์อักษรล้านนานั้น บรรดาผู้ที่สนใจในตำราหรือกวีนิพนธ์ก็จะคัดลอกเอกสารเหล่านั้นต่อ ๆ กันไป ซึ่งเป็นเหตุให้เอกสารเหล่านั้นคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังมีค่าวซออีกหลายเรื่องที่ยังตกสำรวจอยู่ คร่าว, ฅ่าว (อ่านว่า "ค่าว") เป็นฉันทลักษณ์ที่ชาวบ้านล้านนานิยมใช้กันมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากการใช้คำประพันธ์ประเภทนี้อย่างกว้างขวาง คือใช้ในการแต่ง - คร่าวก้อม ซึ่งเป็นโวหารที่กินใจ หรือ สุภาษิตสั้นๆ ที่มักใช้ประกอบการสนทนา - คำคร่าว คำเครือ เป็นสำนวนแบบฉบับที่หนุ่มสาวใช้เจรจาเป็นโวหารรัก - คร่าวใช้ เป็นจดหมายที่มีไปมาระหว่างหนุ่มสาว เทียบได้กับเพลงยาวของภาคกลาง - คร่าวร่ำ ใช้พรรณนาเหตุการณ์ต่างๆ คล้ายกับจดหมายเหตุ เช่น คร่าวร่ำน้ำนอง คร่าวร่ำครัวทานสลากย้อม คร่าวร่ำครูบา    ศรีวิชัย - คร่าวธัมม์ ใช้ในการแต่งเรื่องชาดก ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรื่องประเภท จักรๆวงศ์ๆ เพื่ออ่านและ    เล่าสู่กันฟังทั่วไป เช่น หงส์หิน เจ้าสุวัตรนางบัวฅำ ก่ำกาดำ เป็นต้น คร่าว 1 บท มี 3 บาท (3 บรรทัด) บาทละ 4 วรรค โดยในบทเริ่มต้นจะแตกต่างจากบทที่สองและต่อๆไป ผู้แต่งสามารถแต่งคร่าวได้      โดยไม่จำกัดความยาว แต่ในกรณีที่แต่ง คร่าวร่ำ คร่าวใช้ และ คร่าวธัมม์ หรือ วรรณกรรมชาดก           ที่นำมาแต่งด้วยคร่าวนั้น มักจะลงท้ายด้วยโคลงสอง


ตัวอย่างค่าวบทที่ 1 “ สะหลียินดี หมู่พี่หมู่น้อง ที่มาอ่านถ้อง ค่าวซอเป๋นสาย หลายเมืองแท้นั้น เมืองน่านมาก๋าย เชียงใหม่เชียงราย มาร่วมสืบสร้าง ตึงแม่ฮ่องสอน เมืองแพร่เคียงข้าง เชิญชวนหมู่เฮา พร้อมพรัก ”

ตัวอย่างค่าวบทที่ 2 “ ลำพูนลำปาง ก็ว่างมาทัก พะเยาร่วมเข้า มาไจ มาแต่งค่าวจ๊อย ม่วนงันหัวใจ๋ เชิญมาทางใน หมั่นแวะหมั่นเข้า ค่าวซอของเฮา ตึงดีแท้เจ้า มาเต๊อะเชิญมา ช่วยค้ำ ”


การแต่งค่าวแบบง่าย ( ค่าว 7 บรรทัด )


สะหลียินดี ปี้น้องตังหลาย บ่ว่าหญิงจาย บ่าวจี๋บ่าวหน้อย
เรียงกั๋นเข้ามา เป็นสายเป๋นถ้อย ป้อหนาน ป้อหน้อยก็มา
เจิญเลยเน้อนะเจ้า วงศ์ญาติก๋า แต่งค่าวส่งมา ติยากล่าวแจ้ง
ส่งมานัก ๆ ข้าบ่ได้แคล้ง จ่มว่าหื้ออันใด


" คดมาตั้งเพ้ อย่าฟั่งถอยไกล๋ จักตกขันได ปะใส่หมาหน้อย ปะใส่หมาหน้อย"
ก็ขอเจิญจวน ป้อแม่น้องสาวคำสร้อย หื้อมาผ่อกอย พ่องเต๊อะ
คนแต่งบ่เป๋น ตึงมีป่าเล้อะ มาเต๊อะแวะเข้า มาไจ

อันคนแต่งนั้น ตึงบ่ไปไหน อยู่ต๋ามคันได ใกล้ใกล้แถวหนี้
มาเต๊อะเชิญมา บ่สับปะหลี้ มาอ่านมาฟัง ค่าวนี้
ข้าเจ้าขอกล่าว ขอจ๋ากล่าวจี้ ฮักในค่าวสร้อย เนอนาย
เข้ามาเมื่อเจ๊า จ๋นฮอดถึงขวาย และผ่านเลยไป เมื่อแลงแล้วเจ้า.....


" ดีใจ๋แท้ทัก บรรจงเอิ้นถาม อู้มาเป็นกำ เรื่องแต่งค่าวสร้อย
ข้าเจ้าละอ่อน ผญายังน้อย ฮักในค่าวซอ เจ้นล้ำ
ผ่อไปตางใด ไผบ่ช่วยก๊ำ กลั๋วว่าค่าวสร้อย หายไป
ลองแต่งผ่อนั้น เอาหื้อสหาย อ่านแล้วคำจาย ใช้ได้ว่าอั้น
ข้าเจ้าได้แต่งแหม บ่มีขีดขั้น ตึงญิงตึงจาย ช่วยค๊ำ
เมื่อแต่งแล้วหนา เปิ้นว่าเก่งล้ำ อยากสอนคนเข้า มาไจ
แต่งค่าวกั๋นเต๊อะ ขอหื้อขะไจ๋ แต่งค่าวออกไป ม่วนงันเน้อเจ้า.."


แนะนำการแต่งค่าวแบบง่าย ( ค่าว 7 บรรทัด )

การแต่งค่าวของโบราณนานมาในภาษาล้านนา( ตั๋วเมือง )วรรณกรรมล้านนา( ค่าว ) และดนตรีล้านนา
“ การแต่งค่าว“ ครูที่สอนภาษาไทยหรือแต่งกลอนเป็น
ถ้าประสงค์จะหัดแต่งค่าวเพื่อเป็นการสืบเจตนารมณ์ของ
พญาพรหมโวหารซึ่งสังคมได้ยกย่องให้ท่านเป็นบิดาของการแต่งค่าว

การแต่งค่าวแบบง่าย

ความหมายของค่าว

1.ค่าวคืออะไร

“ ค่าว “ หมายถึงคำประพันธ์ที่มีลักษณะร้อยสัมผัสสอดเกี่ยวกันไป ( แบบร่าย )
และจบลงด้วยโคลงสองหรือโคลงสามสุภาพ มีหลายชนิดคือ
เรื่องที่ปรากฏในเทศนาธรรม เรียกว่า “ ค่าวธรรม “
ถ้าแต่งเป็นจดหมายรักเรียกว่า “ ค่าวใช้ “
ถ้านำไปอ่านเป็นทำนองเสนาะเรียกว่า
“ค่าวซอ “หรือ”เล่าค่าว “ และ   
ถ้าหากเป็นการขับลำนำตอนไปแอ่วสาวเรียกว่า “จ๊อย”
แม้ชาวบ้านทีพูดคล้องจองกันเรียกว่า “อู้เป็นค่าวเป็นเครือ “


2. คุณสมบัติของนักแต่งค่าว มีดังนี้

     1 ) มีใจรักในการแต่งค่าวและเป็นคนละเอียดอ่อน

     2 ) ถ้าแต่งกลอนเป็น จะแต่งค่าวได้ง่ายขึ้น

     3 ) รู้ฉันทลักษณ์ สัมผัส และเสียงวรรณยุกต์ของค่าว

     4 ) แยกเสียงโทและเสียงตรีออก จะทำให้แต่งค่าวได้ไพเราะยิ่งขึ้น


3.สำนวนค่าว มี 3 ส่วน คือ บทขึ้นต้น , บทดำเนินเรื่อง และบทสุดท้าย


4. ฉันทลักษณ์ของค่าว มีดังนี้

     1 ) ค่าว 1 บท มี 3 บาท ( 3 บรรทัด ) บาทละ 4 วรรค

     2 ) สามวรรคแรกมี 4 คำ ส่วนวรรคที่สี่ มี 2 – 4 คำ

     3 ) บังคับเสียงวรรณยุกต์สามัญ , โท , ตรี และจัตวา

     4 ) การส่งสัมผัสประกอบด้วย สัมผัสระหว่างวรรคและสัมผัสระหว่างบาท

           สัมผัสระหว่างวรรคส่งจากวรรคท้ายวรรคที่สอง ไปยังคำท้ายวรรคที่สามของทุกบาท

     5 ) บังคับเสียงวรรณยุกต์สามัญ , โท , ตรี และจัตวา ตามตำแหน่งที่กำหนด


5. ผังค่าวแบบง่าย ( 7 บรรทัด )

     ( บทขึ้นต้น )

OOOO OOOO OOOO OOOO

OOOO OOOO OOOO OOOO

OOOO OOOO OOOO OO

    ( บทดำเนินเรื่อง - จะมีกี่บทก็ได้ )

OOOO OOOO OOOO OO

OOOO OOOO OOOO OOOO ( เหมือนบรรทัดที่ 2 )

OOOO OOOO OOOO OO ( เหมือนบรรทัดที่ 3 )

      ( บทสุดท้าย )

OOOO OOOO OOOO OO(OO )



การแต่งค่าวบทขึ้นต้น

    บทขึ้นต้น หรือ บทที่ 1 มี 3 บาท ( 3 บรรทัด ) บาทละ 4 วรรค

     2.1 ผังค่าว ( บทที่ 1 )

OOOO OOOO OOOO OOOO

OOOO OOOO OOOO OOOO

OOOO OOOO OOOO OO

      2.2 การสัมผัส

            * ตัวอย่าง

“ สะหลียินดี หมู่จุมพี่น้อง ที่มาอ่านถ้อง ค่าวซอเป๋นสาย

หลายเมืองแท้นั้น เมืองน่านมาก๋าย เชียงใหม่เชียงราย มาร่วมสืบสร้าง

ตึงแม่ฮ่องสอน มาช่วยก่อตั้ง เชิญชวนหมู่เฮา พร้อมพรัก ”

            * การสัมผัสมีดังนี้

             1 ) ( น้อง ) ในบรรทัดที่หนึ่ง สัมผัสกับ ( ถ้อง ) ในบรรทัดที่หนึ่ง

                   ( สาย ) ในบรรทัดที่หนึ่ง สัมผัสกับ ( ก๋าย ) ในบรรทัดที่สอง

              2 ) ( ก๋าย ) บรรทัดที่สอง สัมผัสกับ ( ราย ) ในบรรทัดที่สอง

              3 ) ( สร้าง ) บรรทัดที่สอง สัมผัสกับ ( ตั้ง ) ในบรรทัดที่สาม

         2.3 การบังคับวรรณยุกต์ - ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ สะหลียินดี หมู่จุมพี่น้อง ที่มาอ่านถ้อง ค่าวซอเป๋นสาย

หลายเมืองแท้นั้น เมืองน่านมาก๋าย เชียงใหม่เชียงราย มาร่วมสืบสร้าง

ตึงแม่ฮ่องสอน มาช่วยก่อตั้ง เชิญชวนหมู่เฮา พร้อมพรัก ”

1.( สะหลียินดี ) วรรคหนึ่ง - ไม่บังคับ -

( หมู่จุมพี่น้อง ) วรรคสอง เสียงตรี ( น้อง )

( ที่มาอ่านถ้อง ) วรรคสาม เสียงโท ( ถ้อง )

( ค่าวซอเป๋นสาย ) วรรคสี่ เสียงจัตวา ( สาย )


2.( หลายเมืองแท้นั้น ) วรรคหนึ่ง – บังคับเสียงตรี ( นั้น )

( เมืองน่านมาก๋าย ) วรรคสอง บังคับเสียงจัตวา ( ก๋าย )

( เชียงใหม่เชียงราย ) วรรคสาม บังคับเสียงสามัญ ( ราย )

( มาร่วมสืบสร้าง ) วรรคสี่ บังคับเสียงโท ( สร้าง )


3.( ตึงแม่ฮ่องสอน ) วรรคหนึ่ง - ไม่บังคับ -

( มาช่วยก่อตั้ง ) วรรคสอง บังคับเสียงโท ( ตั้ง )

( เชิญชวนหมู่เฮา ) วรรคสาม บังคับเสียงสามัญ ( เฮา )

( พร้อมพรัก ) วรรคสี่ บังคับเสียงตรี ( พรัก )


การแต่งค่าวบทดำเนินเรื่อง

3. 1ผังค่าวบทดำเนินเรื่อง ( บทที่ 2 เป็นต้นไป)

OOOO OOOO OOOO OO

OOOO OOOO OOOO OOOO

OOOO OOOO OOOO OO

3.2 การสัมผัส - ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ ลำพูนลำปาง เมืองแพร่แท้ทัก พะเยาร่วมเข้า มาไจ

มาแต่งค่าวจ๊อย ม่วนงันหัวใจ๋ เชิญมาทางใน หมั่นแวะหมั่นเข้า

ค่าวซอของเฮา ตึงดีแท้เจ้า มาเต๊อะเชิญมา ช่วยค้ำ ”

* การสัมผัส มีดังนี้

1. ( ไจ) บรรทัดที่หนึ่ง สัมผัสกับ ( ใจ๋ ) ในบรรทัดที่สอง

2. ( ใจ๋ ) บรรทัดที่สอง สัมผัสกับ ( ใน ) ในบรรทัดที่สอง

3. ( เข้า ) บรรทัดที่สอง สัมผัสกับ ( เจ้า ) ในบรรทัดที่สาม

3.3 การบังคับวรรณยุกต์ - ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ ลำพูนลำปาง เมืองแพร่แท้ทัก พะเยาร่วมเข้า มาไจ

มาแต่งค่าวจ๊อย ม่วนงันหัวใจ๋ เชิญมาทางใน หมั่นแวะหมั่นเข้า

ค่าวซอของเฮา ตึงดีแท้เจ้า มาเต๊อะเชิญมา ช่วยค้ำ ”

1.( ลำพูนลำปาง )วรรคหนึ่ง - ไม่บังคับ -

( เมืองแพร่แท้ทัก ) วรรคสอง บังคับเสียงตรี ( ทัก )

( พะเยาร่วมเข้า ) วรรคสาม บังคับเสียงโท ( เข้า )

( มาไจ ) วรรคสี่ บังคับเสียงสามัญ ( ไจ )

2.( มาแต่งค่าวจ๊อย ) วรรคหนึ่ง – บังคับเสียงตรี ( จ๊อย )

( ม่วนงันหัวใจ๋ ) วรรคสอง บังคับเสียงจัตวา ( ใจ๋ )

( เชิญมาทางใน ) วรรคสาม บังคับเสียงสามัญ ( ใน )

( หมั่นแวะหมั่นเข้า ) วรรคสี่ บังคับเสียงโท ( เข้า )

3.( ค่าวซอของเฮา ) วรรคหนึ่ง - ไม่บังคับ -

( ตึงดีแท้เจ้า ) วรรคสอง บังคับเสียงโท ( เจ้า )

( มาเต๊อะเชิญมา ) วรรคสาม บังคับเสียงสามัญ ( มา )

( ช่วยค้ำ ) วรรคสี่ บังคับเสียงตรี ( ค้ำ )


การแต่งค่าวบทสุดท้าย

ค่าวบทสุดท้าย ไม่มีฉันทลักษณ์บังคับตายตัว ในตอนท้ายมักจะจบว่า " ก่อนแล "

หรือ" ก่อนแลนายเหย "

* ผังค่าวบทสุดท้าย

OOOO OOOO OOOO OO(OO )
* ตัวอย่าง

“ จบค่าวแนวคำ สุดเสี้ยงเพียงนี้ มอกอี้ขอวางลง ก่อนแลนายเหย. ”

บทที่ 5 ตัวอย่างสำนวนค่าวแบบง่าย

ตัวอย่างสำนวนค่าวแบบง่าย ( ค่าว 7 บรรทัด ) มีดังนี้

* ค่าวสะหลียินดี

“ สะหลียินดี หมู่จุมพี่น้อง ที่มาอ่านถ้อง ค่าวซอเป๋นสาย

หลายเมืองแท้นั้น เมืองน่านมาก๋าย เชียงใหม่เชียงราย มาร่วมสืบสร้าง

ตึงแม่ฮ่อนสอน มาช่วยก่อตั้ง เชิญชวนหมู่เฮา พร้อมพรัก

ลำพูนลำปาง เมืองแพร่แท้ทัก พะเยาร่วมเข้า มาไจ

มาแต่งค่าวจ๊อย ม่วนงันหัวใจ๋ เชิญมาทางใน หมั่นแวะหมั่นเข้า

ค่าวซอของเฮา ตึงดีแท้เจ้า มาเต๊อะเชิญมา ช่วยค้ำ

จบค่าวแนวคำ สุดเสี้ยงเพียงนี้ มอกอี้ขอวางลง ก่อนแลนายเหย. ”



1 ความคิดเห็น: